Version
อาหารสัตว์ หมายถึงวัตถุต่างๆ ที่มีสารอาหารเป็นประโยชน์ในการบำรุงร่างกายและไม่เป็น พิษต่อสัตว์ เช่น รำ ปลายข้าว เมล็ดข้าวโพด ปลาป่น กากถั่วต่างๆ  มันสำปะหลัง ตลอดจน หญ้าและพืชในวงศ์ถั่วบางชนิด  เรานำเอาวัสดุพลอยได้จากอาหารมนุษย์เหล่านี้มาผสมเข้าด้วยกันตามสัดส่วนที่ ต้องการให้เป็นอาหารผสมสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงสัตว์ อาหารสัตว์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก   เนื่องจากเราเลี้ยงสัตว์เพื่อประโยชน์หลายอย่าง  เช่น เพื่อเป็นอาหาร เพื่อใช้แรงงาน และเพื่อส่งขายในต่างประเทศ  ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ เราส่งเนื้อไก่ไปจำหน่ายในต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ ๔,๘๐๐  ล้านบาท การเลี้ยงโคนมของเราก็ก้าวหน้าสามารถผลิตนมได้ประมาณวันละ  ๓๐๐  ตัน ด้วยเหตุนี้เราจำเป็นต้องพัฒนาอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพดีและมีปริมาณเพียงพอ  ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ขนาดต่างๆ จำนวน ๔๙ โรง  ผลิตอาหารได้กว่า ๓ ล้านตัน ได้อาหารสัตว์ที่มีคุณภาพดีทัดเทียมกับของต่างประเทศ ประเทศไทยมีจำนวนสัตว์ดังนี้ คือ โค ๔.๗ ล้านตัว กระบือ ๕.๙ ล้านตัว สุกร ๔.๒ ล้านตัว ไก่ ๘๔ล้านตัว และเป็ด ๑๕ ล้านตัว

แหล่งอาหารสัตว์
          ในเมืองไทยอาหารสัตว์ได้มาจากแหล่งอาหารสัตว์หลายแหล่ง  ดังนี้
          ๑. แหล่งอาหารสัตว์ธรรมชาติ  ได้แก่ หญ้า ถั่ว และพืชอื่นๆ  ที่ขึ้นตามธรรมชาติ เป็นอาหารของโค กระบือ แพะ แกะ ช้าง ม้า เช่น หญ้าเพ็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุ่งนาและคันนามีหญ้าธรรมชาติขึ้นปกคลุม ป่าละเมาะและที่รกร้างซึ่งมีหญ้าและพืชอาหารสัตว์ขึ้นปนอยู่    เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติที่เกษตรกรได้ใช้เลี้ยงโค  กระบือโดยทั่วๆ ไป
          ๒. แหล่งอาหารสัตว์ที่มนุษย์ผลิตขึ้น ได้แก่ เมล็ดพืชต่างๆ ที่เก็บเกี่ยวจากไร่นา เช่น เมล็ดข้าวโพด ข้าวฟ่าง ตลอดจนหัวมันสำปะหลัง ซึ่งปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์โดยเฉพาะ
          ๓. แหล่งอาหารสัตว์ที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้จากโรงงานต่างๆ เช่นกากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง รำข้าว และปลายข้าว กากน้ำมันมะพร้าว กากปาล์ม และกากยางพารา ส่าเหล้า กากเบียร์ กากน้ำตาล เศษสับปะรด มะเขือเทศ  และหน่อไม้ ฝรั่ง กระดูกป่น  วัสดุเหลือใช้เหล่านี้มีคุณค่าอาหารสัตว์สูงมาก
          ๔. แหล่งอาหารสัตว์ที่เป็นวัสดุพลอยได้จากไร่นา ส่วนใหญ่จะเป็นใบพืชเช่น ยอดอ้อยเศษต้นและเปลือกข้าวโพดฝักอ่อน ฟางข้าว ใบมันสำปะหลัง ใบปอกระเจา ซึ่งจัดอยู่ในประเภทอาหารหยาบ ใช้เลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ
          ๕. แหล่งอาหารสัตว์ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ได้แก่ ปลาป่น เปลือกหอย  กระดูกสัตว์ เป็นแหล่งอาหารสัตว์ที่สำคัญเช่นกัน ทำเป็นอาหารป่นใช้ผสมกับอาหารชนิดอื่นๆ  ปลาป่นให้สารอาหารโปรตีน ส่วนเปลือกหอยและกระดูกป่นให้อาหารแร่ธาตุ เช่น แคลเซียมและฟอสฟอรัส
          ๖. แหล่งอาหารสัตว์ที่เป็นทุ่งหญ้า เป็นแหล่งอาหารสำคัญสำหรับสัตว์ประเภทกินหญ้า เช่น โค กระบือ แพะ แกะ ช้าง ม้า มีการเพาะปลูกบำรุงรักษาเช่นเดียวกับการปลูกข้าวและข้าวโพดโดยใช้พันธุ์หญ้า และถั่วพันธุ์ดีโดยเฉพาะ  บำรุงรักษาโดยการใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช ปล่อยโคแทะเล็มเองหรือตัดให้กิน พันธุ์หญ้าที่ใช้กันมาก ได้แก่ หญ้ารูซี กินนี เนเปียร์ และพืชอื่นๆ ได้แก่ ถั่วลาย ถั่วฮามาตา และกระถิน เป็นต้น

[กลับหัวข้อหลัก]
    

เศษต้นข้าวโพด อาหารหยาบที่ใช้เลี้ยงโคกระบือได้ดี    

การจำแนกประเภทอาหารสัตว์
          การจำแนกประเภทอาหารสัตว์แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
          อาหารหยาบ  เป็นอาหารสำคัญของสัตว์ประเภทกินหญ้าเป็นหลัก เช่นโค กระบือ แพะ แกะ มีสารอาหาร เช่น โปรตีน และพลังงานน้อยแต่มีสารย่อยยากหรือกากมาก  เช่น  ต้นหญ้าต่างๆ ต้นข้าวโพด ฟางข้าว ยอดอ้อย เถาถั่ว และใบพืชอื่นๆ ที่สัตว์กินได้ เช่น กระถิน ทองหลาง แคและใบมันสำปะหลัง เป็นต้น
          อาหารข้น  เป็นกลุ่มอาหารสัตว์ที่มีสารอาหารเป็นองค์ประกอบอยู่มาก ย่อยง่าย มีกากหรือเยื่อใยน้อย ตัวอย่างเช่น เมล็ดธัญพืชต่างๆ เมล็ดข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หัวมัน กากถั่วต่างๆ กากเมล็ดปาล์มน้ำมัน รำข้าว และปลาป่น
          อาหารข้นใช้เลี้ยงสัตว์ทุกชนิดได้อาหารข้นยังถูกแบ่งย่อยออกเป็นกลุ่มอาหาร เสริมต่างๆ เช่น อาหารเสริมโปรตีน  ซึ่งเป็นอาหารที่มีโปรตีนปนอยู่มาก  ใช้เติมในอาหารสัตว์ให้มีปริมาณโปรตีนเพียงพอ  อาจได้จากกากถั่วต่างๆ หรือปลาป่น เศษเนื้อป่น อาหารเสริมแร่ธาตุ   เป็นกลุ่มอาหารสัตว์ที่มีแร่ธาตุต่างๆ  เป็นส่วนประกอบอย่างเข้มข้น  เช่นกระดูกป่น เกลือ จุนสี และธาตุเหล็ก เป็นต้น อาหารเสริมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ อาหารเสริมวิตามิน เช่น น้ำมันตับปลา และวิตามินสังเคราะห์  นอกจากนั้นมีสารตัวเร่งการเจริญบางอย่าง เช่น ยาปฏิชีวนะ ใช้เติมในอาหารสัตว์เพียงเล็กน้อย ช่วยให้สัตว์เจริญเติบโตได้ดี สารตัวเร่งนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวังมีกฎหมายควบคุมการใช้ เพราะถ้าใช้มากเกินไปอาจเป็นอันตรายกับผู้บริโภคเนื้อสัตว์  เช่น  ในกรณีการเลี้ยงสุกร  อาหารเสริมที่สำคัญ  ได้แก่อาหารเสริมกรดอะมิโนไลซีน กรดอะมิโนไลซีนมีในอาหารสัตว์ไม่เพียงพอ   จึงมีการสังเคราะห์และใช้เสริมเพิ่มเติมในอาหาร ลดค่าใช้จ่ายของอาหารโปรตีนลงได้  กรดอะมิโนเป็นส่วนประกอบของโปรตีน  มีหลายชนิด  แต่ที่จำเป็นและขาดไม่ได้มี  ๑๐  ชนิด  คือ เมไทโอนีน (methionine)  อาร์จินีน (arginine) ทริปโทเฟน (tryptophane) ไทรโอนีน (trionine) ฮิสทิดีน (histidine)   ไอโซลูซีน (isoleucine)  ลูซีน (leucine) ไลซีน (lysine) วาลีน (valine) และเฟนิลอะลานีน (phenylalanine)

[กลับหัวข้อหลัก]
    

ใบทองหลาง อาหารหยาบที่ใช้เลี้ยงโค     

คุณภาพของอาหารสัตว์
          สัตว์จะเจริญเติบโตดีและให้ผลิตผลสูง ถ้าได้รับอาหารคุณภาพดีและเพียงพอกับ ความต้องการของร่างกาย  คุณภาพของอาหารสัตว์สามารถตรวจสอบได้ เช่น การตรวจสอบรสชาติ การเกิดเชื้อรา การมีสารพิษเจือปน และการตรวจหาปริมาณสารอาหาร วิธีตรวจสอบทั่วๆ ไป คือการวิเคราะห์หาส่วนประกอบทางเคมี เช่น หาปริมาณโปรตีน ไขมัน กากหรือเยื่อใย แร่ธาตุค่าพลังงาน สารย่อยยาก เช่น ลิกนิน ตลอดจนสารพิษและการย่อยได้


สูตรคำนวนจำนวนร้อยละ ของอาหารที่ย่อยได้

          ค่าการย่อยได้  หมายถึงปริมาณอาหารที่ไม่ถูกถ่ายออกเป็นมูล คิดเป็นร้อยละของอาหารที่สัตว์กินได้  ทดสอบโดยให้สัตว์กินอาหารที่ต้องการ ชั่งน้ำหนักอาหารที่สัตว์กินได้และชั่งมูลที่ถ่ายออกทุกวัน  เป็นเวลา ๑๔ วัน น้ำหนักอาหารที่กินได้ลบด้วยน้ำหนักมูลที่ถ่ายออก เป็นค่าของอาหารที่ถูก ย่อย  ดังสูตรคำนวณข้างบนนี้
          วัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดใดที่มีค่าการย่อยได้สูง ถือว่าอาหารสัตว์ชนิดนั้นมีคุณค่าอาหารสัตว์ดีหรือคุณภาพดี หมายความว่า  สารอาหารถูกนำไปใช้หล่อเลี้ยงร่างกายได้มาก เช่น เมล็ดข้าวโพด  มีค่าการย่อยได้ร้อยละ  ๘๐  ใบข้าวโพด มีค่าการย่อยร้อยละ ๕๕  แสดงว่าเมล็ดข้าวโพดมีคุณค่าอาหารสัตว์ดีกว่า
          ส่วนการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของอาหารสัตว์ เป็นการแยกหาสัดส่วนของสารอาหารต่างๆ  โดยขั้นแรกแยกเป็นส่วนของน้ำหรือความชื้นกับวัตถุอาหารที่ปราศจากความชื้น  โดยการไล่ความชื้นด้วยความร้อนในตู้อบ ซึ่งองค์ประกอบส่วนหลังนี้เรียกว่า วัตถุแห้ง จากวัตถุแห้งแยก ส่วนโดยการเผาได้แร่ธาตุรวมเรียกว่า เถ้า ซึ่งประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ  ส่วนที่ถูกเผาไหม้ หายไปเป็นส่วนประกอบของอินทรีย์วัตถุ ประกอบด้วยโปรตีน ไขมัน กากและคาร์โบไฮเดรตหรือแป้ง
          ในการวัดค่าของการย่อยได้ โดยสูตรข้างต้น เราใช้ปริมาณของวัตถุแห้งเป็นเกณฑ์คำนวณ เช่น ค่าการย่อยของโปรตีน ไขมัน กาก และแป้ง ผล  รวมของค่าการย่อยได้ทั้งหมดนี้ เรียกว่า ยอดรวมโภชนะที่ย่อยได้   คิดเป็นร้อยละของอาหารที่กินได้ทั้งหมด โดยคิดคำนวณจากวัตถุแห้งดังนี้


สูตรคำนวณยอดรวมโภชนะที่ย่อยได้

          การทดลองกับสัตว์ใช้เวลานาน   ปัจจุบันมีวิธีการใหม่ทดลองในหลอดแก้ว โดยใช้น้ำของเหลวจากกระเพาะโค ผสมกับ อาหารที่ต้องการในหลอดทดลอง  นำเข้าบ่มที่อุณหภูมิ ๔๐ องศาเซลเซียส นาน ๗๒ ชั่วโมง เติมสารตัวเร่ง  (เพปซิน)ช่วยย่อย ก็ได้ผลใกล้เคียงกับการใช้สัตว์ทดลองวิธีนี้ เรียกว่า  อินวิโทรเทคนิค  (in vitro technic)อีกวิธีหนึ่งเรียกว่า ไนลอนแบกเทคนิค  (nylon bag  technic) ไม่ใช้หลอดทดลอง แต่ใช้ถุงไนลอนบรรจุอาหารในถุงนี้แล้วนำเข้าบ่มในกระเพาะโคโดยตรง โดยที่ได้เจาะกระเพาะเตรียมไว้ก่อนแล้ว จุลินทรีย์ในกระเพาะโคจะเป็นตัวช่วย ย่อยสลายอาหาร
          การเจาะกระเพาะโค กระทำโดยการผ่าตัดช่องท้องตรงบริเวณสวาบด้านซ้ายของโค ตรงพื้นที่สามเหลี่ยมด้านเหนือติดกับส่วนกระดูกสะโพก ผ่าเป็นช่องกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๙-๑๑ เซนติเมตร เย็บผนังกระเพาะให้ติดกับผนังท้องด้านนอก ทำให้เกิดโพรงสำหรับล้วงเข้าไปในกระเพาะได้ ใช้จุกยางขนาดเดียวกับโพรงอุด  โดยอาศัยตะปูเกลียวติดกับจุกยางขันเข้าหรือคลายออกได้ เมื่อต้องการดึงเอาถุงไนลอนออกจากกระเพาะ หลังจากครบกำหนดการย่อย  ก็ดึงจุกออก นำเอาถุงไนลอนออกมาและนำไปอบจนแห้งสนิทแล้วชั่งน้ำหนักที่หายไป น้ำหนักที่หายไปคือน้ำหนักของสารอาหารที่ถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ในกระเพาะโค สารอาหารที่เหลือในถุงเป็นพวกกากหรือส่วนที่ย่อยยาก
          การวัดคุณค่าอาหารสัตว์อีกวิธีหนึ่ง เป็นการวัดค่าของพลังงาน โดยการนำ ตัวอย่างอาหารสัตว์เข้าเผาในอุปกรณ์พิเศษเรียกว่า  บอมบ์ แคลอรีมิเตอร์ (bomb  caloriemeter)  พลังงานที่วัดได้มีหน่วยเป็นแคลอรี อาหารข้นมีค่าการย่อยหรือพลังงานสูงกว่าอาหารหยาบ เนื่องจากในอาหารหยาบมี กากเยื่อใยสูงย่อยยาก โดยเฉพาะหากมีสารลิกนินซึ่งเป็นสารประกอบในพืชชนิดหนึ่งปนอยู่มาก ทำให้ย่อยยากยิ่งขึ้น

[กลับหัวข้อหลัก]
    

น้ำมันตับปลา อาหารเสริมวิตามินสำหรับสัตว์    


เปลือกหอยป่น ใช้ผสมอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์     


การวัดค่าการย่อยได้ของอาหารสัตว์ด้วยวิธีไนลอนแบกเทคนิค    

สารพิษในอาหารสัตว์
          อาหารข้นที่มีข้าวโพดและกากถั่วเป็นส่วนผสมและเก็บรักษาไม่ดีความชื้นสูง จะมีราบางชนิดเจริญแพร่พันธุ์ปล่อยสารพิษ เช่น เชื้อราแอส เพอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) ทำให้เกิดสารพิษอะฟลาท็อกซิน ซึ่งทำให้สัตว์ตายได้ หญ้า บางชนิด เช่น หญ้าซอกัม ต้นข้าวฟ่าง ใบมันสำปะหลัง มีสารไฮโดรไซยานิก ทำให้สัตว์ตายได้ เช่นกัน สำหรับเชื้อราในเมล็ดถั่วและข้าวโพด ป้องกันได้โดยการตากเมล็ดที่เก็บเกี่ยวใหม่ให้แห้งดี  ก่อนนำไปเก็บหรือใช้ผสมอาหารสัตว์ ส่วนใบมันสำปะหลังควรใช้ใบแห้ง สารพิษจะลดลงไม่เป็นอันตราย

[กลับหัวข้อหลัก]
    
อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ
          อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อนี้  บางทีเรียกว่า อัตราการแลกเนื้อ หมายความว่า ในการเจริญเติบโตหรือเพิ่มน้ำหนักตัวของสัตว์ ๑ กิโลกรัมจะต้องใช้อาหารกี่กิโลกรัม ยิ่งใช้อาหารน้อยแต่ได้เนื้อมาก แสดงว่าอาหารนั้นมีคุณภาพดี ในกรณีสุกรขุน  ควรมีอัตราแลกเนื้อ ๑:๒.๕ ในกรณีของไก่ ควรมีประมาณ ๑:๒

[กลับหัวข้อหลัก]
    
ระยะเวลาในการขุนสัตว์
          ระยะเวลาในการขุนสัตว์  หมายถึง  จำนวนวันที่ใช้อาหารเลี้ยงสัตว์ จนสัตว์โตได้น้ำหนักที่ต้องการ  เช่น ใช้อาหารสูตรหนึ่งเลี้ยงสุกร ต้องเลี้ยงนานกี่วันจึงจะได้น้ำหนักสุกร  ๙๐  กิโลกรัม  น้ำหนัก ๙๐ กิโลกรัม เป็นกำหนดที่สุกรขุนโตได้ที่สำหรับส่งขายตลาด    ถ้าน้ำหนักมากกว่านี้จะเปลืองอาหารมากขึ้น  เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น อาหารสูตรใดที่ใช้เวลาสั้นกว่า ถือว่าอาหารสูตรนั้นมีคุณภาพดี  เช่น การขุนสุกรเพื่อขาย การใช้เวลาขุนเพียง ๑๒๐ วัน จะดีกว่าการขุนนาน ๑๔๐ วัน

[กลับหัวข้อหลัก]
    
สูตรอาหารสัตว์
          วัตถุดิบอาหารสัตว์แต่ละอย่างมีสารอาหารมากน้อยต่างกัน บางอย่างมีโปรตีนมาก บางอย่างมีโปรตีนน้อย  หากใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์เพียงอย่างเดียวเลี้ยงสัตว์ สัตว์จะได้รับสารอาหารไม่ครบตามหมวดหมู่ เช่น ให้กินเมล็ดข้าวโพดอย่างเดียว สัตว์ได้รับพลังงานเพียงพอแต่ได้รับสารโปรตีน ไม่เพียงพอ  จึงต้องใช้วัตถุดิบหลายอย่างผสมกันเป็นอาหารสำเร็จรูป  โดยคำนวณว่าจะใช้วัตถุดิบอะไรอย่างละเท่าใด  หรือมีสัดส่วนเท่าใดในอาหารผสม ๑๐๐ ส่วน รายการแสดงสัดส่วนของวัตถุดิบเหล่านี้เราเรียกว่า สูตรอาหารสัตว์
          ในการประกอบสูตรอาหารสัตว์จำเป็นต้องทราบว่าในวัตถุดิบอาหารสัตว์แต่ละอย่าง มีสารอาหารเป็นองค์ประกอบจำนวนเท่าใด เช่น โปรตีน ไขมัน แร่ธาตุ และอื่นๆ นอกจากนั้น ต้องทราบถึงความต้องการอาหารของสัตว์แต่ละชนิดด้วยเช่น ใช้เพื่อดำรงชีพ การเจริญเติบโต  การสืบพันธุ์ การให้น้ำนม และการเพิ่มเนื้อ ไข่ เป็นต้น แล้ว นำมาคำนวณหาปริมาณอาหารที่จะใช้เลี้ยงสัตว์ในแต่ละวัน สัตว์ที่อายุยัง น้อยอยู่ในระยะเจริญเติบโต ต้องการสารอาหารโปรตีนมากกว่าปกติจึงต้องใช้วัตถุดิบที่มีโปรตีนสูงเป็นส่วน ผสมสัตว์ที่ให้น้ำนม เช่น โครีดนมย่อมต้องการพลังงานมากกว่าสัตว์วัยรุ่น ควรใช้วัตถุดิบที่มีพลังงาน มากเป็นส่วนประกอบสูตรอาหารสัตว์ ตัวอย่างเช่นโคเนื้อหนัก ๑๕๐ กิโลกรัม ต้องการโปรตีนวันละ ๒๓๑ กรัม และพลังงาน ๑.๗๐ เมกะแคลอรีต่อวัน แต่แม่โคนมหนัก ๓๐๐ กิโลกรัมและกำลังให้นม ต้องใช้อาหารโปรตีนวันละ ๖๘๖ กรัม และพลังงาน ๒.๑ เมกะแคลอรีต่อวัน การประกอบสูตรอาหารนอกจากคำนึงถึงความต้องการของสัตว์แล้ว  ต้องพิจารณาเรื่องราคาอาหารสัตว์ด้วย สูตรอาหารที่ดีควรมีคุณภาพดีและต้นทุนต่ำ
 
 
 
บริษัท เบสท์อะโกร คอมพาเนี่ยน จำกัด ขอแสดงความยินดีกับ สัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกท่าน
บริษัท เบสท์อะโกร คอมพาเนี่ยน จำกัด ขอแสดงความยินดีกับ สัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกท่าน และขอต้อนรับบัณฑิตใหม่สู่ เบสท์อะโกร กรุ๊ป ของเรานะค่ะ น้องนุ่น น้องเล็ก และน้องเนี๊ยบ
 
Home | Best Agro | Best Agro Companion | Porq | Knowledge | Webboard | Job | Contact Us
BEST AGRO CO., LTD.
1/7 Moo 19 Kanchanapisek Rd., Salathammasolp,Taveewattana Bangkok Thailand
Tel 662 8856885 Fax 662 8859559
Copyright 2009. Best Agro Co., Ltd. All rights reserved.